Skip to content

What is “Grammar”?

What is “Grammar”?

Grammar คืออะไร  

Grammar สำคัญมั้ย

Grammar ยากมั้ย

แล้วทำไมเราต้องเรียน Grammar

 

คำถามมากมายที่ผุดขึ้นมาในหัว เมื่อได้ยินคำว่า  Grammar

วันนี้เลยมีเรื่องจิปาถะว่าด้วย Grammar มาฝากกัน

Grammar คืออะไร

 

ในทาง Linguistics  หรือ ภาษาศาสตร์

Grammar ก็คือ รูปแบบหรือวิธีการ ในการนำคำต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน

เพื่อสร้าง วลี กลุ่มคำ หรือประโยค ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน

“A set of patterns for how words are put together to form phrases or clauses whether spoken or in writing.”

 

ดังนั้น Grammar จึงไม่ได้มีแค่ในภาษาอังกฤษเท่านั้น 

แต่มีอยู่ในทุกภาษา แม้แต่ในภาษาไทย

 

ตัวอย่าง ในภาษาไทย

เรารู้ว่า ประโยค “แมวกินปลา และ “ปลากินแมว” มีความหมายไม่เหมือนกัน

เรารู้ว่า เราต้องเอาคำไหน วางตรงไหน

เรารู้ว่า ตำแหน่งของประธาน กริยา กรรม มีผลต่อความหมายของประโยคอย่างไร

สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Grammar หรือ ไวยากรณ์ ทั้งสิ้น

 

เราต่างผ่านการเรียนไวยากรณ์ภาษาไทยมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คำนาม กริยา กรรม ประโยคคืออะไร ประธาน วลี และอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าจะพูดกันตรง ๆ ไวยากรณ์ภาษาไทยเราก็ยากไม่ใช่เล่นเลยแหละ

 

ทำไมต้องเรียน Grammar และ Grammar สำคัญจริงหรือ

 

เมื่อก่อน สมัยที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษใหม่ๆ  (ย้อนกลับไปสมัยประถมนู่นเลย )

ตอนที่คุณครู สอนเรื่อง Present Simple

คุณครูก็เน้นย้ำเสมอว่า

 “ประธานเป็นเอกพจน์ กริยาต้องเติม –S”

เราเป็นเด็กคนนึงที่ยกมือถามว่า

ทำไม ประธานเป็นเอกพจน์ กริยาต้องเติม –ด้วย” (ถามกันดื้อๆ แบบนั้นเลย)

คำตอบของคุณครูตอนนั้น เรายังจำได้จนถึงทุกวันนี้

เพราะมันเป็น กฎ ของภาษาอังกฤษ”

 

คุณครูเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพว่า

การเรียนภาษาอังกฤษก็เหมือนกับการเล่นเกมหรือการเล่นกีฬา

เราจะเล่นเกมหรือเล่นกีฬาประเภทนั้น ๆ ได้ เราก็ต้องรู้จัก กฎ กติกา ของมันเสียก่อน จึงจะเล่นได้ถูกต้อง ซึ่งกฎกติกาของภาษาอังกฤษ ก็คือ Grammar นั่นเอง

 

แล้วทำไมเราถึงจำกฎ จำกติกา จำวิธีการเล่นเกม ต่าง ๆ ได้เยอะแยะมากมาย 

แต่พอพูดถึง Grammar เรากลับรู้สึกว่ามันยากทันที

คำตอบง่ายๆ คือ เพราะ “ทัศนคติ” ที่เรามีต่อ การเรียนภาษาและการเล่นเกมมันต่างกัน

 

เพราะฉะนั้น

มาลองเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อการเรียนภาษากันเถอะ”

 

เราเคยนั่งฟังคลิปของชาวต่างชาติท่านนึง พูดถึงการเรียนภาษาไว้ว่า

“Language is not an art to be mastered, but it is a tool you use in order to get a result.”

ภาษานั้น แท้จริงแล้ว ก็คือเครื่องมือที่ช่วยให้เราสื่อสารกันได้และนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เราต้องการ

 

ถ้าเราต้องพูดภาษาอังกฤษ เพราะเราต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง

ก็จงอย่ากลัวที่จะพูด แม้เราจะไม่ได้เก่งแกรมมาร์ก็ตาม

 

การที่เราจะสื่อสารได้หรือไม่

เลเวลของภาษาและความเชี่ยวชาญเรื่องแกรมมาร์ มีความสำคัญแค่เพียงส่วนนึงเท่านั้น มีผู้คนมากมายที่ไม่ได้เก่งแกรมมาร์แต่ก็สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี

 

สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือเวลาที่เราพูด

อย่าโฟกัสที่ตัวเอง อย่ามัวแต่กังวลว่าเราจะพูดผิด แต่ให้โฟกัสไปยังคนที่เราพูดด้วย ว่าเค้าเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อหรือไม่”

ถ้าเราทำให้คนฟังเข้าใจเราได้ ก็ถือได้ว่าการสื่อสารประสบความสำเร็จแล้ว แม้ว่าเราอาจจะใช้ประโยคที่ไม่ถูกแกรมมาร์ก็ตาม

 

ว่ากันว่า

คนที่เก่งภาษา บางครั้งจะคิดเยอะ (เกินไป) และจะห่วงว่าต้องพูดออกมายังไงให้ Perfect ในขณะที่คนที่ไม่ได้เก่งภาษามากมาย จะพยายามสื่อสารออกมา โดยไม่ห่วงว่าจะพูดผิดหรือไม่ และท้ายที่สุดแล้ว ก็บรรลุเป้าหมายในการสื่อสารได้ไม่ต่างจากคนที่เก่งภาษาเลย

 

ตอนที่เราได้ยินเจ้าของภาษาพูดประโยคบางประโยคเป็นภาษาอังกฤษ

หลายต่อหลายครั้ง ที่เราถามว่า ทำไมประโยคนี้จึงใช้แบบนี้ อธิบายแกรมมาร์ให้เราฟังหน่อย

บางครั้ง เค้าก็อธิบายให้เราฟังได้ แต่บางครั้ง เค้าก็อธิบายไม่ได้ แล้วบอกเราว่า

“I didn’t  think about grammar when I said it,  I just said it”

อ้าว ซะงั้น ..!

 

จริง ๆ ก็คงเหมือนกับเวลาที่เราพูดภาษาไทย

เราใช้ทุกวัน ได้ยินทุกวัน พูดทุกวัน เราพูดออกไปโดยธรรมชาติ โดยสัญชาติญาณ

เราไม่ได้นึกถึงหลักไวยากรณ์ภาษาไทยด้วยซ้ำ เพราะเราใช้จนเคยชิน

เราใช้จนเรารู้ว่า ประโยคนี้ถูก ประโยคนี้ผิด คำไหนใช้ยังไง

แถมบางครั้งเราก็อธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ทำไมเราถึงใช้แบบนั้น เรารู้แค่ว่ามันใช้แบบนั้นได้

 

สุดท้าย จากใจผู้เขียน

ในฐานะที่เป็นเด็กเอกภาษาอังกฤษคนนึงและเป็นคนที่รักการเรียนภาษามาก (ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ)

เราเคยเป็นคนนึงที่สมัยก่อน จริงจังกับการจำกฎเกณฑ์ต่างๆ ของ Grammar มาก

เวลาจะพูดอะไรออกไปทีนึง คือจะคิดเยอะมาก บางทีคิดเยอะจนไม่กล้าพูด เพราะกลัวพูดผิด

เราอยากจะบอกว่า

อย่าห่วง Grammar จนเกินไป อย่ากลัวว่าจะพูดผิด จนสุดท้ายก็ไม่กล้าที่จะพูด

“Grammar เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้สำคัญที่สุด เพราะถ้าเรากลัวแกรมมาร์จนไม่กล้าพูด ภาษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารก็คงไร้ค่า

 

ทั้งนี้ เว้นเสียแต่ว่า เราต้องใช้ภาษาในสถานการณ์ที่เป็นทางการ เขียนบทความทางวิชาการ การสอบ การเรียนต่อในระดับสูง หรือทำงานในองค์กรที่เคร่งครัดเรื่องความถูกต้องของภาษามาก ๆ

กรณีนั้น Grammar ก็จะเข้ามามีบทบาทกับการใช้ภาษามากขึ้น

ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่เรียนรู้ ฝึกฝนเพิ่มเติมได้ (ถ้าไม่ท้อและหมดใจไปเสียก่อน)

 

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ

อย่าดื้อที่จะยอมรับความผิดพลาด และอย่าเป็นคนที่บอกว่าฉันถูกเสมอ

อยากเก่งภาษา ไม่ว่าจะภาษาอะไร มันไม่มีทางลัดที่ทำให้เก่งได้ในชั่วข้ามคืน

นอกเสียจาก ต้องฝึกฟัง ฝึกพูด ฝึกใช้งานบ่อย ๆ

พูดผิด เขียนผิด มีคนท้วงติง ให้แก้ไข เราก็ค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ เรียนรู้ไป

ภาษาเป็นเรื่องของการฝึกฝนใช้งาน เราใช้บ่อย และฝึกบ่อย

เราจะเริ่มคุ้นชิน และเรียนรู้ไปเองแบบเป็นธรรมชาติ ว่าแบบไหนถูก แบบไหนผิด

 

วิธีการเรียน Grammar ที่ดีที่สุด คือการเรียนรู้จากการใช้งานจริง ๆ เพราะสิ่งที่เรียกว่า Grammar นั้น มันแทรกซึมอยู่ในทุกประโยคที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน”

 

ฝึกเขียน ฝึกพูด ฝึกแต่งประโยคตัวอย่างเยอะๆ แล้วทักษะภาษาของเราจะค่อยๆ พัฒนาได้เองแบบเป็นธรรมชาติ อย่าไปโฟกัสที่ตัวแกรมมาร์อย่างเดียว แล้วนั่งท่องหลักการ เป็นนกแก้ว นกขุนทอง เพราะจะทำให้การเรียนภาษา กลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ สุดท้ายก็จะทำให้เราท้อและไม่อยากเรียนภาษาในที่สุด

 

ด้วยรักและขอเป็นกำลังใจให้คนที่รักการเรียนภาษาทุกๆคน